หนึ่งตำบล
หนึ่งผลิตภัณฑ์
ผ้าไหมสาเกตุ
ผ้าไหมไทย
เป็นมรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกายที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีแหล่งสำคัญอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน
ประวัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยได้เริ่มขึ้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔
ได้มีการจัดตั้งสถานีทดลองและทำสวนหม่อน
ขึ้นที่ตำบลศาลาแดง ภายใต้การดูแลของแผนกช่างสาวไหม กระทรวงเกษตราธิการ โดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการและศึกษาวิจัย
ต่อมาได้มีการจัดตั้งศูนย์หม่อนไหมขึ้นในภาคอีสานหลายจังหวัด
ปัจจุบันเมื่อมีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ
ในพระบรมราชินูปถัมภ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ได้เกิดกระแสนิยมผ้าไหมแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ผ้าไหมแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกันเชิงความคิดตามวัฒนธรรมท้องถิ่น
มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว
หลายจังหวัดมีการส่งเสริมเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด
เช่น ผ้าไหมแพรวาจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ้าไหมกาบบัวจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
ผ้าไหมสาเกต
เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด คำว่าสาเกต มาจากชื่อเมือง สาเกตนคร เป็นมงคลนามของเมืองโบราณอันเป็นที่ตั้งของเมืองร้อยเอ็ดในปัจจุบัน
ผ้าไหมสาเกตพัฒนามาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวเมืองร้อยเอ็ด
มีหลายกลุ่มผู้ผลิตกระจายอยู่แทบทุกอำเภอ
แต่ละกลุ่มจะมีทักษะที่ถือเคล็ดลับในการมัดหมี่เพื่อประดิษฐ์ลายผ้า
การย้อมสี การเลือกใช้เส้นไหม แตกต่างกันไป แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมสาเกต
คือ เป็นผืนผ้าไหมที่ทอให้เป็นผ้าพื้นสลับกับลายผ้าโบราณที่สอดรับกลมกลืนกันอย่างลงตัว
ประกอบด้วยลายผ้าโบราณ ๕ ลาย
ซึ่งมีความหมายบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองร้อยเอ็ดได้เป็นอย่างดี
ได้แก่
๑. ลายคองเอี้ย
เป็นลายผ้าที่มีลักษณะเป็นเหมือนแม่น้ำลำคลอง เปรียบเสมือนสายเลือดที่เอื้ออำนวยต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของชุมชนเกษตรกร
๒. ลายนาคน้อย
ลายที่มีลักษณะเป็นเหมือนพญานาคพ่นน้ำ มีความหมายว่าเป็นดินแดนที่มีความชุ่มชื้น
ฝนตกต้องตามฤดูกาล ยังความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องไร่และผืนนา
๓. ลายโคมเจ็ด บ่งบอกถึงวิถีชีวิตชุมชนความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมือง
ความเพิ่มพูนของผลผลิตทางการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ ความสดใสในชีวิต
เป็นเหมือนโคมไฟส่องสว่างสู่ความเจริญรุ่งเรืองมิรู้จบ
๔. ลายหมากจับ
หมากจับเป็นเมล็ดพันธ์พืชชนิดหนึ่งชอบติดขากางเกง เมื่อติดแล้วแกะออกยาก สื่อความหมายว่าใครเมื่อได้พบเห็น
สัมพันธ์กับชาวเมืองร้อยเอ็ดแล้ว
จะเกิดความประทับใจไม่รู้ลืม
๕. ลายค้ำเพา
เป็นลายเส้นตรงที่ปรากฏบนผืนผ้า บ่งบอกถึงความมีจิตใจที่ซื่อตรง มุ่งมั่น
แน่วแน่เข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน อันเป็นอุปนิสัยโดดเด่นของชาวอีสาน